ขออินเทรน Copenhagen 2009

อีก 11 วัน การประชุมภาวะโลกร้อน United Nations Climate Change Conference หรือเรียกสั้น ๆ ว่า COP15 กำลังจะเริ่มขึ้นที่กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์กแล้ว

ใครที่ไม่เคยสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนหรือข่าวคราวเรื่องพวกนี้ ก็น่าจะเคยได้ยิน (ซักครั้งอ่ะนะ…) ได้ผ่านหูผ่านตากันบ้างถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้ ว่าแต่ทำไมมันถึงสำคัญนักหนา? เรื่องโลกร้อนก็คุยกันมานานแล้วมิใช่หรือ? จะอธิบายให้ฟังกันคร่าว ๆ ดังนี้

เริ่มกันตั้งแต่ปี 1992 ที่ทั่วโลกมีการประชุม Earth Summit จัดโดยสหประชาชาติ (United Nations หรือสั้น ๆ ว่า UN) ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล การประชุมครั้งนั้นทำให้เกิด อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือย่อ ๆ ว่า UNFCCC) ขึ้น และประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติได้ลงนามร่วมกันในอนุสัญญานี้ … และด้วยอนุสัญญานี้ ก่อให้เกิดผลผลิตออกมาเป็นแผนปฎิบัติการเพื่อลดภาวะโลกร้อน ที่เราเรียกกันว่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) จากการประชุมกันในประเทศสมาชิกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นในปี 1997

เนื้อหาหลัก ๆ ของพิธีสารเกียวโตก็คือ ประเทศที่ให้สัตยาบันในผนวก I หรือ Annex I (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว) จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHG) เฉลี่ยแล้วร้อยละ 5 ในปี 2008-2012 คำนวณจากการปล่อยในปีฐาน 1990 ส่วนประเทศไทยไม่ได้อยู่ในผนวก I เลยไม่ถูกบังคับให้ลดการปล่อย GHG แต่อย่างใด หากจะมีมาตรการการลดการปล่อยก็จะถือว่าทำได้โดยเต็มใจทำเอง (ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีนโยบายลดการปล่อยแต่อย่างใด)

และแล้ว กระแสภาวะโลกร้อนก็กระหน่ำขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศที่คนเดินถนนธรรมดา ๆ เริ่มรับรู้และรู้สึกได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ (เช่น เกิดพายุรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น น้ำท่วมบ่อย บางพื้นที่ก็แห้งแล้งกันนานเกินไป ฯลฯ) ทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีการถกเถียงกันว่า เราควรจะลดการปล่อย GHG กันทุกประเทศได้แล้ว เพราะโลกนี้เป็นของทุกประเทศ และที่สำคัญประเทศที่กำลังพัฒนาควรจะต้องโดนบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน

… แต่เอ๊ะ ประเทศกำลังพัฒนาถ้าไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วอุตสาหกรรมของประเทศที่เป็นแกนนำหลักเศรษฐกิจจะพัฒนาได้อย่างไร? ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ปล่อย GHG มาแต่ชาติปางไหน (จริง ๆ แล้วตั้งแต่มีการปฎิวัติอุตสาหกรรม สมัยบ้านเรายังมีเมืองหลวงเป็นอยุธยาอยู่โน่น) พวกที่รวย ๆ แล้วนี่แหละ เป็นตัวต้นเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพราะปล่อย GHG สะสมกันมานาน ก็ควรจะต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนความผิดให้ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา ๆ

อีกประการหนึ่ง พิธีสารเกียวโต มันจะหมดอายุปี 2012 ซึ่งก็อีก 2 ปีข้างหน้านี้แล้ว … มาตรการต่าง ๆ ที่รองรับโดยพิธีสารฯ (ได้แก่ Emission Trading, Clean Development Mechanism และ Joint Implementation) มันจะเป็นไปในทิศทางไหน ค้าขายใบอนุญาติปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันอยู่ดี ๆ พอถึงปี 2012 กฎหมายที่รองรับการซื้อขายนี้ก็หมดอายุซะงั้น คาร์บอนเครดิตจะยังใช้ได้อยู่ไหม แล้วโครงการร่วมกันระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป … อันนี้ไม่มีใครรู้

นั่นแหละ … ที่ทำให้การประชุมของเหล่าประเทศสมาชิกที่ลงนามในอนุสัญญา UNFCCC ที่จะเกิดขึ้นที่กรุงโคเปนฮาเกนครั้งนี้ (ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมครั้งที่ 15 ตั้งแต่มีอนุสัญญาเกิดขึ้น เค้าเลยเรียกการประชุมนี้ว่า Conference of the Parties หรือ COP15) เป็นที่คาดการณ์กันว่าจะมีความดุเด็ดเผ็ดมัน เพราะแต่ละประเทศก็ต้องการปกป้องเศรษฐกิจของตัวเอง อีกทั้งยังต้องมีการต่อรองกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาว่าใครควรจะลดการปล่อยมากกว่าใคร และที่สำคัญจะมีพิธีสารใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาแทนที่พิธีสารเกียวโตที่กำลังจะหมดอายุนี้หรือไม่ อันนี้ทำให้ผลการประชุมเป็นที่น่าติดตามยิ่งนัก

แล้วเราก็ขออินเทรนไปกับเค้าด้วย …. ยังไง?

ก็สมัครไปกับทางมหาวิทยาลัย (และได้รับคัดเลือก!!) เพื่อเป็นตัวแทนไปเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย ก็จะได้เข้าไปนั่งฟังพวกคนใหญ่คนโตที่เอาประเทศเราเป็นเดิมพันมาคุยต่อรองกัน … ทั้งนี้ ไม่ได้ไปเปล่า ต้องเขียนรายงานส่งตอนกลับมาแล้วด้วย จึงต้องมีการสัมภาษณ์ผู้แทนประเทศอาเซียนบางประเทศเพื่อเก็บข้อมูลเอามาเขียนงาน

ผลจะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ จะได้มีโอกาสเข้าถึงตัวคนมีตำแหน่งในรัฐบาลกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่เอาฟระ … ได้เข้าไปนั่งเจ๋อกับเค้าในห้องประชุมก็พอใจแล้ว เพราะปกติตอนทำงานอยู่กรีนพีซ ได้แต่เย้ว ๆ อยู่ด้านนอก ไม่เคยเห็นหัวรัฐมนตรีเลย คราวนี้ถือว่ามีโอกาสได้ประชิด ฮ่ะ ๆๆๆ สนุกแน่ Wink

ปล. อ่านเรื่องราวความเป็นมา From Rio to Kyoto เต็ม ๆ เนื้อ ๆ เน้น ๆ ได้ที่นี่

Leave a comment

Blog at WordPress.com.